30 พฤศจิกายน 2558

การกำกับภาพยนตร์ (Film Directing)



การกำกับภาพยนตร์ คือ การควบคุมงานศิลปะต่างๆ ของภาพยนตร์ให้ไปในทิศทาง (direction) ที่ผู้กำกับภาพยนตร์ต้องการ ผู้กำกับภาพยนตร์ (Director) คือ ผู้ที่ควบคุมส่วนประกอบทุกส่วนที่ปรากฏหน้ากล้องถ่ายภาพ เป็นผู้ถอดบทภาพยนตร์ให้ออกมาเป็นภาพ โดยประสานส่วนประกอบต่างๆ เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัวและมีศิลปะ ส่วนประกอบของภาพยนตร์ เช่น ผู้แสดง ภาพ ฉาก แสง เสียง ฯลฯ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วสามารถทำให้ผู้ชมประทับใจ อีกทั้งเข้าใจแก่นเรื่อง (theme) หรือแนวความคิดหลักของเรื่องนั้นได้

ผู้กำกับภาพยนตร์จะต้องทำงานประสานกับบุคลากรในกองถ่ายแผนกต่างๆ เช่น ผู้กำกับภาพ ผู้กำกับฝ่ายศิลป์ ผู้จัดการกองถ่าย ฯลฯ เพื่อให้ช่วยสร้างภาพที่ฝันให้เป็นตามจินตนาการที่ตนเองต้องการในการทำงานก่อนการถ่ายทำ ผู้กำกับมีลำดับการทำงานดังนี้

              1.เข้าใจบทอย่างแตกฉาน (ตีบทแตก) ผู้กำกับภาพยนตร์จะอ่านบทหลายๆ ครั้ง ตรงไหนที่ไม่เข้าใจก็ถามคนเขียนบท ต้องมีความรู้กว้างขวาง และลึกซึ้งต่องานที่ตนเองจะกำกับ เช่น ถ้าภาพยนตร์เรื่องนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัยรุ่น ก็ต้องหาหนังสือจิตวิทยาวัยรุ่นมาอ่าน หรือพูดคุยสัมภาษณ์วัยรุ่น ผู้กำกับภาพยนตร์ต้องรู้จังหวะของเรื่องว่าจะมีลีลาอย่างไร เห็นภาพในสมองแจ่มชัดสามารถที่จะจำรายละเอียดในบทได้เกือบทั้งหมด ทั้งนี้หากว่าทีมงานหรือนักแสดงถาม เขาจะให้คำตอบได้

              2.วิเคราะห์ภูมิหลังตัวละคร ผู้กำกับภาพยนตร์ต้องเข้าใจตัวละครเสมือนเป็นญาติสนิท รู้ว่าเขาและเธอมีภูมิหลังอย่างไร นิสัยอย่างไร ต้องขุดลึกและรู้พฤติกรรมนั้นๆ ว่า ทำไมเขาจึงเป็นเช่นนั้น และกระทำสิ่งเหล่านั้นเพราะอะไร ถ้าเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นเขาจะทำอย่างไร เพื่อเมื่อเวลากำกับจะกำกับได้คล่องอีก ทั้งยังจะทำให้ตัวละครมีความน่าสนใจและสมจริง

              3.แบ่งบทเป็นช่วงๆ (dramatic beat) ผู้กำกับภาพยนตร์จะต้องรู้ช่วงลีลาของหนังที่ภาพต่างๆ รวมกัน แล้วจะเกิดจังหวะลีลาเป็นช่วงๆ อย่างไร เช่น เด็กคนหนึ่งเก็บกระเป๋าสตางค์ที่ตกได้ (จังหวะที่ 1) เขางง หยิบขึ้นมาดู มองไปข้างหน้า (จังหวะที่ 2) เขาวิ่งไปคืนเจ้าขอ แต่เจ้าของขึ้นรถเมล์ไปแล้ว (จังหวะที่ 3) เขาขึ้นรถเมล์สายเดียวกันตามไป (จังหวะที่ 4) เขายิ้มเมื่อเห็นเจ้าของกระเป๋าลงจากรถ เขาลงตามไป (จังหวะที่ 5) เขาเรียก แล้วคืนกระเป๋าให้ (จังหวะที่ 6) เจ้าของเงินรับ เจ้าของกระเป๋าเดินไป สักพักหันกลับมาเรียก เขาตกใจ เจ้าของกระเป๋ายื่นนามบัตรให้บอกว่าถ้ามีอะไรจะให้ช่วยเหลือ ก็ให้ติดต่อ(จังหวะที่ 7) ผู้กำกับจะต้องนำบทมาแบ่งเป็นช่วงของฉากเป็นหลายๆ ช่วง เพื่อให้เกิดจังหวะและลีลาการเล่าเรื่อง

              4.การกำหนดรูปแบบของงาน การกำหนดรูปแบบของงาน หมายถึง การเลือกที่จะสร้างบุคลิกลักษณะของภาพยนตร์ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เรียกว่า การออกแบบ look ของภาพยนตร์ เช่น look ที่เป็นวัยรุ่นสมัยใหม่ ก็จะเป็นภาพแคบๆ ตัดต่อฉับไว ฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากใช้สีสันฉูดฉาด แต่ถ้า look ออกมาเป็นเชิงที่เรียกว่า คลาสสิค ก็จะถ่ายเป็นภาพกว้างๆ จัดแสงเหมือนคัทยาวๆ โทนสีออกไปทางสีน้ำตาล (sepia) look ของภาพยนตร์แต่ละแนวจะแตกต่างกัน ภาพยนตร์แนวชีวิตก็จะใช้ Look ลักษณะหนึ่ง ในขณะที่แนวตลก แนวผี แนวฆาตกรรม แนววิทยาศาสตร์ก็จะอีกลักษณะ
              5.กำหนดจังหวะ หมายถึง การกำหนดลีลาช่วงเดินเรื่องของภาพยนตร์ระดับความรู้สึกของงาน เช่น ภาพยนตร์ที่มีช่วงลีลาเร็วมาก ความรู้สึกของภาพจะรุนแรง แสง เสียง การใช้สีสันจะจัดจ้าน เข้มข้น ตรงกันข้ามกับภาพยนตร์ชีวิตรักจะเดินเรื่องช้าๆ ความรู้สึกของภาพอ่อนละมุนนุ่มนวล ฉากเครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ประกอบฉากมักใช้สีอ่อนๆ

              6.ร่างผังการถ่ายและสตอรี่บอร์ด (floorplan and storyboard) ผู้กำกับภาพยนตร์จะต้องออกแบบร่างผังการถ่าย (floorplan) ลักษณะของผังการถ่ายเหมือนกับการมองดูจากเพดานว่า ตัวละครเข้าออกทางไหน ไปนั่งเก้าอี้ตัวใด โต๊ะตู้วางอย่างไร รวมถึงตำแหน่งของกล้องอยู่ตรงไหน เคลื่อนไหวกล้องอย่างไร การจัดทำผังการถ่าย (Floor Plan) จะทำให้ช่างภาพและฝ่ายจัดฉากทำงานสะดวกขึ้น จากนั้นก็ทำสตอรี่บอร์ด (storyboard) สตอรี่บอร์ดทำเพื่อให้เห็นขนาดภาพ องค์ประกอบของภาพ ความต่อเนื่องสัมพันธ์ระหว่างภาพหนึ่งไปยังอีกภาพหนึ่ง หากผู้กำกับไม่ถนัดในการเขียน ก็ร่างภาพหยาบๆ แล้วจ้างช่างศิลป์มาเขียนให้สตอรี่บอร์ดจะช่วยให้ทีมงาน และผู้กำกับทำงานสะดวกมองออกว่าจากภาพนี้แล้ว ภาพต่อไปจะเป็นอย่างไร


              7.ทำรายการถ่าย (shotlist) รายการถ่าย คือ การกำหนดจำนวนภาพที่จะถ่ายเรียงลำดับจากช๊อตที่ 1 แล้วแตกช๊อตออกไปเป็น 1.1, 1.2, 1.3 ช๊อตที่ 2, 2.1, 2.2, 3, 4, 4.1 (ในการเปลี่ยนตำแหน่งของกล้องแต่ละครั้ง อาจจะมีหลายช๊อตก็ได้ คือ ถ่ายภาพขนาดต่างๆ กัน ใช้เลนส์หรือฟิลเตอร์ต่างกัน) รายการถ่ายต้องทำให้ละเอียด เพื่อใช้ในการถ่ายในแต่ละวัน เพื่อเป็นแนวทางของผู้กำกับและทีมงาน ภาพจะเป็นอย่างไร ถ่ายอย่างไร ตัวละครจะอยู่ตำแหน่งไหน หันหน้า ไปทางใด ทำอะไร เข้าออกภาพทางไหน ตัดภาพเมื่อไหร่ จะอธิบายให้ละเอียดในคราวนี้อีกที (หลังจากที่ ได้บอกไว้บ้างแล้ว) เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะปฏิบัติตาม

อ้างอิง : http://samforkner.org/source/dirshortfilm.html